โครงการศิลปนิพนธ์ เครื่องมือช่วยตรวจนับข้อสอบปรนัย
Author:
Date:
1988
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
โครงการศิลปนิพนธ์
1. ชื่อโครงการศิลปะนิพนธ์ เครื่องมือช่วยตรวจนับข้อสอบปรนัย THE COUNTING AND CHECKING EQUITMENT FOR THE MULTIPLE CHOICE EXAMINATION
2. วัตถุประสงค์ ต้องการออกแบบเครื่องมือและ/หรือระบบที่ช่วยในการตรวจนับคะแนนสำหรับข้อสอบแบบปรนัยด้วยการพัฒนาระบบและรูปแบบจากผลิตภัณฑ์เดิมซึ่งมีใช้อย่างไม่แพร่หลายเพิ่มประโยชน์ในการทำงานและปรับปรุง พัฒนาขอบข่ายและประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องมือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์เดิม โดยกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องมือ จากการศึกษาในภาคข้อมูลและภาคสนาม มุ่งให้เครื่องมือนี้ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายของกลุ่มเป้าหมาย คือ ครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ลดความเครียดในการทำงาน ประหยัดเวลา มีความแม่นยำ เชื่อถือได้ เป็นการช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ระบบและวิธีการใช้งานไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นการนำเอาเครื่องมือเครื่องใช้ที่น่าจะเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ใช้งาน นำเทคโนโลยีระดับที่เหมาะสมมาใช้ ราคาเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน คุณภาพสนองความต้องการพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายได้ การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงสามารถทำได้และไม่ยุ่งยาก
3. ขอบเขตของการวิจัยและการออกแบบ
กำหนดคุณสมบัติจนคุณลักษณะของเครื่องมือจากความต้องการตามสภาพที่แท้จริงที่ได้จากการศึกษาข้อมูลทั้งภาคเอกสารและภาคสนาม โดยเครื่องมือและ/หรือระบบดังกล่าวมีความสามารถพื้นฐานที่สำคัญเป็น 2 ข้อ คือ มีความสามารถในการช่วยตรวจข้อสอบแบบปรนัย และมีความสามารถในการนับคะแนนสำหรับการตรวจข้อสอบแบบปรนัย เป็นสำคัญ โดยมีขอบข่ายของการทำงานในระดับหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับ กลุ่มเป้าหมาย ความสามารถในการทำงานทั้ง 2 ข้อดังกล่าวต้องมีความแม่นยำ เชื่อถือได้ แก้ปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายที่มีและเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและนับคะแนนข้อสอบแบบปรนัยได้ นำเอาเครื่องมือที่มีอยู่เดิมทั้งที่เป็นเครื่องมือในการตรวจและ หรือ นับโดยตรงและระบบ และหรือนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาพัฒนาและปรับปรุง นำมาใช้ในการสร้างเครื่องมือดังกล่าว
4. ความสำคัญของปัญหาและที่มาที่ทำการวิจัยและการออกแบบ
เริ่มจากการที่ได้เห็นและรับทราบถึงปัญหาและสภาพความเครียดที่เกิดขึ้นในระหว่างการตรวจข้อสอบแบบปรนัยของครูระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ซึ่งต้องสอนนักเรียนหลายห้องหลายระดับชั้น และจำนวนนักเรียนต่อห้องมีจำนวนมาก การตรวจสอบทางกายและทางจิต เป็นความยุ่งยาก น่าเบื่อ ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการคิดค้นและสร้างเครื่องมือช่วยนับคะแนน แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมและไม่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคนานาประการ การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ก็มีราคาแพงทั้งราคาเครื่องมือ และการดูแลรักษา การใช้งานก็ซับซ้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของโรงเรียนในต่างจังหวัดที่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก แม้แต่โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่บางแห่งในกรุงเทพฯ ก็มีปัญหา ถ้าจะนำเอาเทคโนโลยี่ชั้นสูงระดับคอมพิวเตอร์มาใช้แทนการทำคีย์ ตรวจเองแบบเดิม ซึ่งใช้กระดาษคำตอบเจาะช่องให้ตรงกับคำตอบที่ถูกต้อง ธูปหรือบุหรี่ ซึ่งคีย์ในลักษณะดังกล่าวก็ยังมีการใช้งานได้จำกัด ไม่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ครูยังต้องเสียเวลาและต้องใช้ตัวเองทำงานอยู่ ดังนั้น โครงการนี้จึงมุ่งที่จะสร้างและพัฒนาความสามารถเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง เพื่อช่วยแก้ปัญหาและเพื่อการใช้งานให้เป็นประโยชน์เต็มที่ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ
5. แนวทางการวิจัยและการออกแบบ
ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการวิจัยและออกแบบจากเอกสารทางด้านการศึกษา การวัดผลการศึกษา ตลอดจนสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ลักษณะการใช้ข้อสอบแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะแบบปรนัยของกลุ่มเป้าหมายสัมภาษณ์ สอบถามกลุ่มเป้าหมาย สัมภาษณ์ สอบถามกลุ่มเป้าหมายและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา การวัดและการศึกษา เพื่อทราบความต้องการ และปัญหาที่แท้จริง ศึกษาถึงระบบ เครื่องมือเครื่องใช้แบบเก่าที่มีใช้อยู่ ปรึกษาและค้นคว้าทางด้านระบบไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์และอื่น ๆ ที่คาดว่าเกี่ยวข้องและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่โครงการได้เพื่อเป็นการชี้นำแนวทางที่ดีที่สุดตามวัตถุประสงค์โครงการ ตลอดจนศึกษาถึงการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง เพื่อจัดทำคู่มือการใช้งาน และรายละเอียดอื่น ๆ ตามความจำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
6. แผนดำเนินการวิจัยและออกแบบ
เริ่มจากการศึกษาข้อมูลทางเอกสารเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางวิเคราะห์กำหนดคุณสมบัติของเครื่องมือ ศึกษาข้อมูลสนามจากการสัมภาษณ์ ออกแบบสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ศึกษาระบบทางเทคโนโลยีไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ และอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงแนวทางที่วิเคราะห์ได้จากภาคเอกสาร ศึกษาเครื่องมือ เครื่องใช้ ระบบที่มีอยู่เดิม เพื่อวิเคราะห์รูปแบบ ข้อดีข้อเสีย ตามหลักการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำเอาข้อมูลทั้งหมดมา สรุป และออกแบบต่อไป
7. ระยะเวลาของขั้นตอนในการวิจัยและการออกแบบ (รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 16 สัปดาห์) ข้อมูลภาคเอกสารและภาคสนาม 5 สัปดาห์
สรุปข้อมูล กำหนดรูปแบบคุณสมบัติ 2 สัปดาห์
ออกแบบและพัฒนา 3 สัปดาห์
สรุปรูปแบบ และทำ MODEL 5 สัปดาห์
WORKING DRAWING AND PRESENTATION PLATE และสรุปโครงการทั้งหมด
1 สัปดาห์
8. ประมาณค่าใช้จ่าย
ภาคเอกสาร (ค่าพิมพ์ ถ่ายเอกสาร ค่ากระดาษ ฯลฯ) 2,000 บ.
ภาควัสดุอุปกรณ์ 4,000 บ.
เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ 2,000 บ.
รวมทั้งสิ้น 8,000 บ.
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ได้ข้อสรุปของความต้องการและปัญหาที่แท้จริงตามสภาพปัจจุบันในการตรวจและนับคะแนนข้อสอบแบบปรนัย สามารถสนองความต้องการและแก้ปัญหาได้ด้วยการเสนอเครื่องมือช่วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ โดยที่ได้เครื่องมือและ/หรือระบบที่มีคุณภาพดี ราคาพอเหมาะกับคุณลักษณะและคุ้มค่าในการบริโภค แก้ปัญหาได้ ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการทำงาน ผลิตภัณฑ์มีรูปแบบ รูปร่างหน้าตาสวยงาม มีเหตุผลตามหลักการออกแบบผลิตภัณฑ์
10. เอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ
- เอกสารทางการศึกษา เช่น หลักสูตรการศึกษา การวัดผลการศึกษาและข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับจำนวนโรงเรียน จำนวนนักเรียนและอื่น ๆ
- เอกสารและข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี่ ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์
- บทความหรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางวัสดุศาสตร์และข้อมูลด้านมนุษย์มิติ โสตทัศนูปกรณ์ และอื่น ๆ
Type:
Discipline:
สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา
Collections:
Total Download:
119