ความเป็นลาวกับความสัมพันธ์ชุมชนท้องถิ่นจากภาพจิตรกรรมวิหารวัดม่วง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
Author:
Subject:
Date:
2016
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
การศึกษา เรื่องความเป็นลาวกับความสัมพันธ์ชุมชนท้องถิ่นจากภาพจิตรกรรมวิหารวัดม่วง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาวิเคราะห์เทคนิค แนวคิดและรูปแบบงานจิตรกรรม เพื่อให้เห็นถึงอิทธิพลที่ปรากฏในงานจิตรกรรม ซึ่งมีความกับงานช่างแบบพื้นบ้านและอิทธิพลศิลปะลาว โดยการกำหนดอายุภาพจิตรกรรมวิหารวัดม่วงนี้ สันนิษฐานว่าอาจถูกเขียนขึ้นสองช่วง พิจารณาจากเรื่องที่ใช้เขียน ซึ่งภาพกลุ่มแรกเขียนภาพปลงอสุภกรรมฐาน 10 เป็นภาพที่นิยมเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงกำหนดอายุภาพกลุ่มแรกได้อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ส่วนภาพอีกกลุ่มมีลักษณะการเขียนที่แตกต่าง ประกอบกับการเขียนภาพตอนปรินิพพานและการถวายเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องที่พบบ่อยในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพที่ถูกเขียนซ่อมเพิ่มเติมในสมัยหลังคือช่วงรัชกาลที่ 5
จากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงรูปแบบงานจิตรกรรมของวัดม่วง ที่มีความเป็นพื้นบ้านชัดเจน จากการวางองค์ประกอบและการลำดับ เรื่องไม่ต่อเนื่อง ค่อนข้างเป็นอิสระไม่มีรูปแบบกฎเกณฑ์ตายตัวเป็นไปได้ว่าพื้นบ้านอาจไม่มีความคุ้นชินกับเรื่องพุทธประวัติได้เท่ากับช่างหลวงในกรุงเทพ แต่จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความทรงจำ สำนึกที่มีร่วมกันอยู่ในชุมชนมากกว่า อีกทั้งรูปแบบบางประการที่ปรากฏในงานจิตรกรรมวิหาร วัดม่วง แสดงถึงการรับอิทธิพลการสร้างงานจิตรกรรมในศิลปะลาว ได้แก่ การวาดจิตรกรรมไว้ภายนอกอาคาร การใช้สีฟ้าครามระบายเป็นสีหลักและการใช้สีขาวนวลเป็นหลัง รวมถึงการเลือกเรื่องพระมาลัยใช้เขียนในภาพจิตรกรรมภายนอกอาคาร ก็สามารถเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาและประเพณีบุญผะเหวดของคนลาวได้เช่นกัน
รูปแบบงานจิตรกรรม ของวิหารวัดม่วง แสดงให้เห็นว่าชุมชนในแถบพื้นที่ อำเภออินทร์บุรี จังหวัด สิงห์บุรีและบริเวณใกล้เคียงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนลาว จากร่องรอยทางศิลปกรรมที่ปรากฏ ประกอบกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการกวาดต้อนกลุ่มคนลาวช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งอินทร์บุรีเป็นอีกพื้นที่สำคัญทำให้มีการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของคนลาวในพื้นที่ เชื่อมโยงได้กับความทรงจำของคนในพื้นที่ที่ว่าคนสร้างวัดเป็นชาวลาวจากเวียงจันทร์ด้วย จึงได้ข้อสรุปว่ารูปแบบภาพจิตรกรรมวัดม่วง สามารถเชื่อมโยงกับบริบท ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนลาวสมัยรัชกาลที่ 3
Type:
Discipline:
สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก
Total Download:
280