ฝันเปลี่ยนฤดู
Author:
Subject:
Date:
2003
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Description:
สื่อผสม ขนาด 115x110.6x37 เซนติเมตร อิทธิพลของไมเคิล แอนจิโล ได้ปรากฎอย่างชัดเจนในผลงานชิ้นนี้ จากรูปทรงคนที่มี
ร่างกายบึกบึนล่ำสัน เน้นให้เห็นถึงความงามทางสรีระของมนุษย์ แต่ก็เป็นเพียงด้านรูปแบบเท่านั้น
ที่ข้าพเจ้ามีความพึงพอใจความงามตามลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ยึดถือคติความเชื่อตามแบบอย่างของ
ลัทธิมนุษย์นิยมและตัวศิลปิน
ผลงานชื่อฝันเปลี่ยนฤดู มีแนวคิดมาจากการพยายามค้นหาความจริงในธรรมชาติที่มี
การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากฤดูหนึ่งไปสู่อีกฤดูหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อหลาย ๆ สิ่งรวมถึงมนุษย์อัน
อยู่ภายใต้กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น ต้นไม้ต้นเดียวอาจเปลี่ยนไปได้หลากรูปทรง
หลายสีสันตามกำหนดกาลของเวลา เช่นเดียวกับดอกไม้มีเบ่งบานแล้วล่วงโดยพร้อมการกำเนิดเพื่อ
ทดแทนของดอกใหม่ ธรรมชาติในความรู้สึกของข้าพเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันดับสูญ แต่ถ่ายเทพลัง
แห่งชีวิตสืบเนื่องอย่างไม่จบสิ้นและด้วยความเปลี่ยนแปลง ทุกชีวิตจึงสามารถดำรงอยู่ได้ วิเคราะห์องค์ประกอบและความหมาย
ลักษณะของผลงานแยกเป็น 2 ชิ้น ซ้ายขวา โดยสร้างเนื้อหาให้เกิดความสัมพันธ์ต่อ
เนื่องกัน ทั้ง 2 ชิ้นจะมีรูปทรงและเรื่องราวที่คล้ายกัน เพียงแต่สลับให้ดูเหมือนกลับด้านเพื่อสร้าง
ความแตกต่าง รูปทรงหลักเป็นรูปทรงคนแบบนูนต่ำอยู่ในท่านั่งบิดตัวมาด้านหน้า มีขนาดครอบ
คลุมกรอบสี่เหลี่ยมของงานซึ่งเป็น 2 ชิ้น ดังนั้นรูปทรงนี้จึงมี 2 ตัว แยกเป็นด้านซ้ายและขวา แต่ละ
ตัวยื่นแขนมาข้างหน้าในมือถือรูปทรงคนแบบลอยตัวในท่านอน มือชี้ไปยังรูปทรงคนนั่งซึ่งอยู่
อีกด้าน โดยส่วนหัวของรูปทรงคนนั่งด้านขวาเชื่อมต่อออกไปกลายเป็นนก ท่าทางของรูปทรงด้านซ้ายคล้ายกับภาพอาดัมในผลงานชื่อเนรมิตอาดัม ของไมเคิล แอนเจโล ซึ่งข้าพเจ้านำเอาลักษณะ
การยื่นมือสัมผัสกันระหว่างพระเจ้ากับอาดัมมาใช้เพื่อสื่อความรู้สึกถึงการถ่ายของพลังบางอย่าง
ในที่นี้ข้าพเจ้าหมายถึงพลังชีวิตแห่งธรรมชาติ พื้นหลังของงานเป็นดอกไม้เชื่อมกับศีรษะของรูป
ทรงคนแบบนูนสูง มุ่งให้เห็นถึงการประสานเป็นหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติซึ่งต้องอาศัย
ซึ่งกันและกัน
สีในงานเป็นส่วนที่แสดงความแตกต่าง โดยใช้แทนฤดูกาลมีที่มาจากนาข้าว เพราะใน
ฤดูฝนทุ่งนาจะเต็มไปด้วยสีเขียวขของต้นกล้า แต่พอเข้าสู่ฤดูหนาวข้าวสุกเต็มรวงกลายเป็น
สีเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง ผลงานด้านซ้ายจึงใช้สีเหลืองและน้ำตาลแทนเวลาช่วงฤดูหนาว ในส่วน
ของรูปทรงคนลอยตัวใช้สีที่มีความสดสว่าง เช่น สีม่วง สีชมพู สีเหลือง เจืออยู่ในโทนของสีเขียว
เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับผลงานด้านขวาซึ่งใช้สีเขียวเป็นหลัก แทนความรู้สึกชุ่มชื่นในฤดูฝน
และได้แฝงความหมายของชีวิตที่กำลังงอกงาม โดยใช้รูปคนนั่งขดตัวบนศีรษะมีนกคล้ายกำลังบิน
ไปบรรจบกับนิ้วที่ชี้ออกมาจากรูปทรงด้านซ้าย ซึ่งข้าพเจ้าจินตนาการขึ้นมาแทนตัวตนของธรรมชาติผู้ให้กำเนิดชีวิต
Type:
Is part of:
วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปมหาบัณฑิต เรื่อง "ภาวะของจิตใต้สำนึก"
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
22