ลาภูลาษูซูแล : ภาษาลูกับการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มกะเทย
Author:
Advisor:
Date:
2019
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
งานวิจัยเล่มนี้เป็นการศึกษาการเล่นทางภาษาชนิดหนึ่งในสังคมไทยที่มีชื่อเรียกว่าภาษาลู
เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ได้กลายมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มกะเทย ศึกษาโดยเก็บข้อมูลจาก
ผู้ให้ข้อมูลเป็นเพศทางเลือกที่เปิดเผยตนเองว่าเป็นกะเทยจำนวน 10 คน โดยเน้นกลุ่มกะเทยที่อาศัย
อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครที่มีการใช้ภาษาลูสื่อสารกันภายในกลุ่ม ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ศึกษาเพื่อ
แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของภาษาที่สะท้อนให้เห็นสังคม วัฒนธรรม และนำไปสู่อัตลักษณ์เฉพาะ
กลุ่มที่แตกต่างไปจากกลุ่มอื่น ๆ ในอดีตนั้นคนในสังคมส่วนใหญ่มีมุมมองและทัศนคติต่อกลุ่มกะเทย
ไปในทางลบค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นเพศที่แตกต่างจากการกำหนดโครงสร้างสังคม ดังนั้น กลุ่มคน
ดังกล่าวจึงพยายามสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเองที่แตกต่างและเป็นที่ดึงดูดความสนใจโดยวิธี
ต่าง ๆ เช่น การแต่งกาย การศัลยกรรมแปลงเพศ การแสดงกิริยาท่าทาง รวมไปถึงการใช้ภาษาลู
พูดคุยกัน โดยภาษาลูไม่ปรากฏที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มกะเทยส่วนใหญ่มีการสืบทอดวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนานจนไม่
สามารถสืบหาต้นตอของจุดเริ่มต้นได้อย่างแม่นยำ จากการสืบค้นประกอบกับคำสัมภาษณ์ของผู้ให้
ข้อมูล สามารถอนุมานได้ว่าภาษาลูมีมานานกว่า 20 ปี โดยส่งต่อผ่านการพูดคุยสื่อสารกัน รุ่นน้องจะ
ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากรุ่นพี่ หรือจากเพื่อนสู่เพื่อนซึ่งเป็นคนในแวดวงกลุ่มสังคมเดียวกัน
ช่วงเวลาของกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นทั้งตอนต้นและตอนปลาย
เนื่องจากเป็นวัยที่มีความคึกคะนอง อยากรู้อยากลอง ชอบแสวงหาความสนุกสนาน ทำให้เด็กในวัยนี้
เริ่มมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จึงได้เกิดการ
เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่จากกลุ่มสังคมในขณะนั้น เหตุผลของการใช้ภาษาลูสื่อสารกันก็เพื่อหลีกหนีจากคนหมู่มากในสังคมและเพื่อความเป็นส่วนตัวในการสนทนา โดยจะเข้าใจกันได้ภายในกลุ่มวัฒนธรรม
เดียวกันหรือบุคคลที่รู้และเข้าใจภาษานี้ แต่ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการหลีกหนีจากคนนอกกลุ่มเท่านั้น
ภาษาลูมีหลักการของการพูดที่ผู้ใช้เข้าใจกันอย่างเป็นระบบ แต่กลับเป็นภาษาที่ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ใด ๆ
จึงทำให้เกิดการประยุกต์ดัดแปลงให้แตกต่างไปจากเดิมได้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมชาติของภาษา จะเห็น
ได้ว่าเกิดการพยายามหลีกเร้นให้ห่างออกไปทั้งจากคนนอกกลุ่มและคนภายในกลุ่มด้วยกันเอง
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการเลือกใช้ภาษาลูในการพูดคุยกันของกลุ่มกะเทยนั้น มี
เหตุผลที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันหลากหลายประการ อันดับแรกเป็นไปในทิศทางของการที่ไม่
ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการจะพูด เนื่องจากต้องการความเป็นส่วนตัวในการพูดคุยในที่
สาธารณะ รวมไปถึงการนินทาที่สามารถทำได้ทันทีในขณะนั้นโดยไม่ต้องหลบซ่อน อีกทั้งภาษาลูยัง
เป็นตัวกลางในการสร้างความสนุกสนานและเพิ่มอรรถรสให้กับบทสนทนา น้ำเสียง จริตจะก้าน
ท่าทางที่ใช้แสดงออก เต็มไปด้วยอารมณ์เป็นการช่วยเพิ่มสีสัน สีสันในการสนทนานั้นก็ทำให้เกิดความ
สนุกสนาน ความสนุกสนานในกลุ่มเพื่อนก็จะทาให้สนิทกันมากขึ้น กล่าวได้ว่าบรรยากาศในการใช้
ภาษาลูเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่หนึ่งในการแสดงออกทางตัวตนของกะเทย
การสนทนาที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มวัฒนธรรมที่มี
ความต้องการจะสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์และการมีส่วน
ร่วมในสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่ม โดยภาษาลูเป็นผลผลิตที่มาจากประสบการณ์ร่วมกันของกลุ่ม
กะเทย มีหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารซึ่งถือเป็นหน้าที่พื้นฐานที่เด่นชัดที่สุดของภาษา ช่วยเชื่อม
และลดช่องว่างของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวบุคคลสามารถเข้าร่วมสังคมของกลุ่ม
ได้ มีการพัฒนาความสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วผ่านภาษาที่มีความไม่เป็นทางการ ดังนั้น ผู้พูด
สามารถแสดงออกถึงตัวตน ความคิดหรือคำพูดได้อย่างเต็มที่และเปิดเผย และยังสามารถสะท้อนให้
เห็นถึงตัวตนของคนในกลุ่มดังกล่าวอีกด้วย
Type:
Degree Name:
ศิลปศาสตรบัณฑิต
Discipline:
ภาควิชามานุษยวิทยา
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
9995