อัตลักษณ์ของชาวมอญ หมู่บ้านมอญทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
Author:
Advisor:
Subject:
Date:
2018
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
งานการศึกษาฉบับนี้เป็นการศึกษาอัตลักษณ์ของชาวมอญ ในหมู่บ้านมอญทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชน และวิถีชีวิตของชาวมอญหมู่บ้านมอญทรงคนอง 2) ศึกษาประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อที่ยังคงปรากฏและไม่พบแล้วในหมู่บ้านมอญทรงคนอง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ชาวมอญหมู่บ้านมอญทรงคนอง อายุระหว่าง 30-80 ปี จำนวน 10 คน ชาวมอญผู้มาร่วมงานหรรษารามัญ จำนวน 6 คน รวมไปถึงพระสงฆ์ 1 รูป และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ด้วยกรอบแนวคิดอัตลักษณ์ (Identity) และแนวคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ (Ethnic Group) และประชาคมทางชาติพันธุ์ (Ethnic Community) ผลการศึกษาพบว่า ชาวมอญทรงคนอง มีลักษณะเป็นประชาคมทางชาติพันธุ์ (Ethnic Community) ค่อนข้างชัดเจนเพราะประกอบไปด้วยองค์ประกอบของการเป็นประชาคมทางชาติพันธุ์ครบทั้งหกประการ อาทิ การมีชื่อร่วมกัน การมีประวัติศาสตร์ชาติร่วมกันและการมีอาณาเขตร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์มอญยังคงมีต้นแบบทางวัฒนธรรมร่วมกันในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เช่น ด้านภาษา ด้านศาสนา ด้านอาหาร ด้านการแต่งกาย รวมไปถึงด้านประเพณีและพิธีกรรม แต่ชาวมอญทรงคนองมีอัตลักษณ์ทางประเพณีที่แตกต่าง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและมีความเจริญเข้ามามาก เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนมอญอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล จะเห็นได้ว่าในประเพณีที่ยังปรากฏอยู่ในหมู่บ้านและประเพณีที่ไม่พบแล้วในหมู่บ้านนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้าน ดังนั้นความเชื่อเรื่องผีและการละเล่นที่ต้องอาศัยความชำนาญทางด้านภาษามอญ เช่น ทะแยมอญ จึงไม่ค่อยปรากฏในหมู่บ้านมอญทรงคนองแล้ว แต่ในทางกลับกันประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบหรือการละเล่นสะบ้าบ่อน ที่เป็นประเพณีที่มีความสอดรับกับการท่องเที่ยวกลับปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำทุกเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนั้นยังคงบทบาทและถูกให้ความสำคัญมากกว่าประเพณีอื่น ๆ จากการศึกษาทำให้เห็นได้ว่าอิทธิพลความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป มีผลกระทบกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เช่น มีการส่งลูกหลานไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ หรือมีการเข้าไปทำงานในบริษัทหรือระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเพณีในหมู่บ้านมอญทรงคะนอง จึงทำให้ประเพณีที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์เดิมของมอญบางประเพณียังคงอยู่ในขณะที่บางประเพณีไม่ถูกหยิบมาใช้เป็นเวลานานจนกระทั่งสูญหายไปเพราะขาดผู้มีความรู้ความสามารถ ตัวอย่างเช่น การละเล่นทะแยมอญ เป็นต้น
Type:
Degree Name:
ศิลปศาสตรบัณฑิต
Discipline:
ภาควิชามานุษยวิทยา
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
1501