สายฝ(รั่ง) กับการเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้กับผู้หญิง
Author:
Advisor:
Date:
2018
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
งานศึกษาเฉพาะบุคคลเรื่อง “สายฝ(รั่ง) กับการเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้กับผู้หญิง” เป็นการศึกษาถึงความงามในบริบทสังคมไทย พัฒนาการของสายฝ(รั่ง) ความเป็นสายฝ(รั่ง) ในบริบทสังคมไทย และกระบวนการกลายเป็นสาย ฝ(รั่ง) ในบริบทสังคมไทย เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบว่าผู้หญิงใช้สายฝ(รั่ง) เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้กับตนเองอย่างไร
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) และการศึกษาภาคสนาม (Field Work) ด้วยการสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงสายฝ(รั่ง) ภายในกลุ่ม Make Up For ฝ. จำนวน 10 คน ผ่านการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีร่างกาย 3 ระดับ (The Three Bodies) และทฤษฎีสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ (Post-Feminist) ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าความงามในบริบทสังคมไทยให้ความสำคัญกับความขาวและความผอม สีผิวและเรือนร่างในสังคมไทยถูกกำหนดคุณค่าให้ลักษณะบางประการเป็นความงามอันพึงประสงค์ของสังคมไทยผ่านงานวรรณกรรม วรรณคดี ที่ถูกประพันธ์ขึ้นจากชนชั้นสูงที่มีอำนาจทางสังคม หรือแม้แต่สื่อทุกประเภท จนทำให้สีผิวในลักษณะขาว และเรือนร่างในลักษณะผอมบาง กลายเป็นหนึ่งในความงามอันพึงประสงค์ของสังคมไทยที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ได้กดทับกรณีศึกษาที่ไม่ได้มีร่างกายตรงตามความงามอันพึงประสงค์ ส่งผลให้กรณีศึกษาเกิดความเจ็บปวด และแสวงหาหนทางออกจากความรู้สึกดังกล่าว ก่อนจะพบกับความงามรูปแบบสาย ฝ(รั่ง) ที่มีลักษณะตรงข้ามกับความงามอันพึงประสงค์ โดยได้อิทธิพลมาจากตะวันตกผ่านสื่อสังคมออนไลน์และชาวต่างประเทศ กรณีศึกษาได้ปรับเปลี่ยนตนเองโดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นพื้นฐานก่อนจะค้นพบว่ากรณีศึกษาสามารถสวยงามได้แม้ไม่ได้มีร่างกายตรงตามความงามอันพึงประสงค์ของสังคมไทย กล่าวคือจากร่างกายไม่พึงประสงค์ กลายเป็นร่างกายที่เสริมพลัง ร่างกายของการต่อสู้เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่มีร่างกายไม่เป็นที่พึงประสงค์ได้มีที่ยืนภายในสังคม ต่อรองกับสังคมว่าความสวยงามไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว และร่างกายแบบสายฝ(รั่ง) คือความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของร่างกายที่ไม่ยอมจำนนให้ใครมาควบคุม และสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงใช้สายฝ(รั่ง) ในการรื้อถอน (Deconstruction) วาทกรรมความงามหลักของสังคม อันได้แก่ความผอมเท่ากับความสวย ความขาวเท่ากับความสวย ที่กดทับตนเองอยู่ จากนั้นได้ประกอบสร้างใหม่ (Reconstruction) ว่าสายฝ(รั่ง) ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความเข้มของผิว เรือนร่างที่มีสัดส่วนชัดเจน การแต่งหน้าที่เข้ม และการเปิดเผยเรือนร่าง เป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่ง การต่อสู้ด้านการให้คำนิยามและสร้างความหมายใหม่นั้นมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อย (Liberate) ผู้หญิงออกจากอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) หรือมาตรฐานความงามแบบเดิม ๆ พร้อมทั้งเสริมพลัง (Empower) ให้กับความเป็นหญิงในนิยามใหม่ที่ทำให้ เห็นถึงพื้นที่ใหม่ ๆ วิธีคิดใหม่ ๆ ที่พ้นออกจากกรอบความงามแบบเดิม ๆ และท้าท้ายกับความงามกระแสหลักในสังคมไทย
Type:
Degree Name:
ศิลปศาตรบัณฑิต
Discipline:
ภาควิชามานุษยวิทยา
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
1286