กระบวนการฟื้นฟูแห่ปราสาทผึ้ง บ้านท่ากกแก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
Other Title:
The process of revitalization Wax Castle, Ban Ta Kok Kae, Lom Sak District, Phetchabun Province
Author:
Advisor:
Subject:
Date:
2016
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษากระบวนการฟื้นฟูงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งบ้านท่ากกแกที่กำลังจะสูญหายไปจากชุมชน และ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งให้สามารถดำรงอยู่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการเก็บข้อมูลภาคสนาม
ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อแรก พบว่า กระบวนการฟื้นฟูงานแห่ปราสาทผึ้งบ้านท่ากกแก เป็นการดำเนินงานที่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ประชาชน เยาวชนและหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน มีขั้นตอน 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การรวมกลุ่มการฟื้นฟูงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของชุมชนบ้านท่ากกแก โดยชาวบ้านและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง 2) ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการจัดงานจากเดิมจะจัดตรงกับวันออกพรรษา มาเป็นจัดพร้อมกับงานทอดกฐิน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือน 11 จนถึงเดือน 12 ของทุกปี และในแต่ละปีจะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันที่ในการดำเนินงานอีกครั้ง 3) จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทหล่ม กลุ่มมูลมังบ้านท่ากกแก 4) การพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน โดยการเพิ่มกิจกรรมขบวนแห่ทางบกและวงดนตรีพื้นบ้านนำขบวน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณี 5) การเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ก่อให้เกิดการเพิ่มเติมกิจกรรมในการจัดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งอีกหลากหลายกิจกรรม เช่น ขบวนแห่ทางบกพร้อมดนตรีพื้นบ้านนำขบวน พิธีเปิดงาน กิจกรรมการแสดงต่างๆ หลากหลายกิจกรรม 6) ทำให้งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของบ้านท่ากกแกเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยการนำงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเข้าร่วมในงานประจำอำเภอและประจำจังหวัด และ 7) การทำให้เป็นกิจวัตร โดยการจัดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์งานประเพณีของท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป
ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่สอง พบว่า ชุมชนบ้านท่ากกแกยังได้มีแนวทางทางการจัดการงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งให้สามารถดำรงอยู่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ จากการเรียนรู้วิธีการดำเนินวิถีชีวิตภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ โดยการสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกความเป็นท้องถิ่น ให้แก่ชาวบ้านและเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง โดยการหยิบยกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและวิถีการดำเนินชีวิตมาบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต รวมถึงการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มาถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนและเยาวชนที่ให้ความสนใจ อีกทั้ง ยังใช้เทคโนโลยีในด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้ที่มีความสนใจเข้ามาร่วมงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งของบ้านท่ากกแก
Type:
Degree Name:
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Discipline:
สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
1362