การศึกษาวิเคราะห์คำสอนในพับสาคำขับไทลื้อ ฉบับน้อยพรหม เมืองยอง
Other Title:
An analytical study of the didatic didcourse contained in the collection of Tai Lue traditional songs (Kham Khap) compiled by Noi Phrom of Mueang Yong
Author:
Advisor:
Subject:
Date:
2559
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์รูปอักษรและอักขรวิธี 2) ศึกษาวิเคราะห์วรรณศิลป์ 3) ศึกษาวิเคราะห์คำสอนที่ปรากฏในพับสาคำขับไทลื้อ ฉบับน้อยพรหม เมืองยอง
ผลการวิเคราะห์รูปอักษรและอักขรวิธี พบว่ามีรูปแบบใกล้เคียงกับอักษรธรรมล้านนา แต่มีรูปรูปอักษร 3 ตัว คือ อักษร ช ท อ และอักขรวิธีบางประการ คือ การยกตัวสะกดในคำที่สะกดด้วยแม่กง กน เกอว ขึ้นไปอยู่เหนือพยัญชนะต้นเท่านั้นที่ต่างไปจากอักษรธรรมล้านนา
อายุของเอกสารต้นฉบับ จากตัวเลข 1326 ที่มุมขวาล่างของหน้าที่ 29 สันนิษฐานว่าเป็นเลขจุลศักราช เมื่อคำนวนเป็นพุทธศักราชตรงกับ พ.ศ. 2507 สอดคล้องกับอายุของคัมภีร์ใบลานตำนานรสี ในฐานข้อมูลคัมภีร์ล้านนาของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ทั้ง 4 ฉบับ ที่ถูกรักษาไว้ในวัดของชุมชนชาวไทลื้อในประเทศไทยทั้งสิ้น โดยมีอายุอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2505 อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาเรื่องตำนานรสีในส่วนท้ายของพับสาคำขับไทลื้อ ฉบับน้อยพรหม เมืองยอง อาจถูกคัดลอกต่อมาจากคัมภีร์ใบลานดังกล่าว โดยปรับปรุงให้เป็นฉันทลักษณ์แบบคำขับ เพื่อใช้เผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบของการขับลื้อ อันง่ายต่อการสื่อสารกับผู้คนในสังคมวัฒนธรรมไทลื้อ
ทางด้านวรรณศิลป์ พบว่าฉันทลักษณ์มีลักษณะคล้ายร่ายแบบโบราณ มีจำนวนพยางค์ภายในวรรคไม่เคร่งครัด คือมีตั้งแต่ 5 ถึง 21 พยางค์ พยางค์สุดท้ายของวรรคจะส่งสัมผัสกับพยางค์ใด ๆ ที่ไม่ใช่พยางค์สุดท้ายของวรรคถัดไป บางวรรคมีคำลงท้ายวรรคที่เป็นการหยุดพักเพื่อหายใจของช่างขับ ก่อนที่จะเริ่มต้นขับในวรรคใหม่ต่อไป นอกจากนี้ยังพบคำยืมภาษาอื่น ๆ ในตระกูลภาษาเดียวกัน ได้แก่ภาษาไทใหญ่ และภาษาลาว และพบคำยืมภาษาอื่น ๆ ที่ต่างตระกูลภาษา ได้แก่ ภาษาเมียนมา ภาษาเขมร และภาษาบาลี-สันสกฤต แสดงให้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้พูดภาษาอื่น ๆ และการได้รับอิทธิพลทางภาษาจากพุทธศาสนา มีศิลปะการใช้ภาษา เช่น การใช้ภาพพจน์ การใช้อุปลักษณ์ การใช้สัญลักษณ์ การใช้อธิพจน์ และการใช้สัทพจน์ อีกทั้งยังมีการใช้โวหาร เช่น เทศนาโวหาร สาธกโวหาร พรรณนาโวหาร และอุปมาโวหาร เพื่อแสดงความสามารถทางภาษาของผู้แต่งหรือช่างขับ ทำให้ผู้ฟังสนใจและติดตามฟังไปตลอดจนกระทั่งสิ้นสุดการขับ
ผลการศึกษาวิเคราะห์คำสอน พบว่า คำสอนที่มีศิลปะการใช้ภาษาโวหารต่าง ๆ ที่ดึงเอาลักษณะทางธรรมชาติมาอุปมาอุปมัย โดยแทรกคติความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ผสมกลมกลืนกับคติทางพุทธศาสนา ได้สะท้อนค่านิยม ความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรมตามอุดมคติของสังคม ทำให้สมาชิกในสังคมมองเห็นหน้าที่และบทบาทของตนเองต่อสังคม คำสอนจึงมีหน้าที่และบทบาทช่วยควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมวัฒนธรรมชาวไทลื้อเมืองยอง ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบและสงบสุข
Type:
Degree Name:
ศิลปศาตรมหาบัณฑิต
Discipline:
สาขาวิชาจารึกศึกษา
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
371