วัฒนธรรมการบริโภคของแรงงานก่อสร้าง

Author:
Advisor:
Date:
2006
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
การศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคของแรงงานก่อสร้างมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมการบริโภคของแรงงานก่อสร้าง ว่ามีแบบแผนหรือรูปแบบเป็นอย่างไร โดยศึกษาถึงบริบทการบริโภคของแรงงานก่อสร้างกับการสร้างความหมาย หรือการสร้างชุดของสัญญะให้กับสินค้าที่ส่งผลถึงการทำให้เกิดการสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่นำไปสู่การเป็นแบบแผน และกลายเป็นระเบียบทางสังคม จนกลายเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของแรงงานก่อสร้าง
โดยการศึกษาในครั้งนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยผู้ศึกษาใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลทางเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเป็นกรอบแนวคิดและประเด็นในการวิจัย จากนั้นได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และเขียนสรุปในแต่ละประเด็นตามวัตถุประสงค์
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ การเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างนั้นเป็นกระบวนการต่อสู้ของการหนีจากความเป็นชายขอบของสังคมเพื่อที่จะหาหนทางในการดำรงชีวิตท่ามกลางกระแสของการบริโภคนิยมที่รุนแรงอยู่ทุกขณะ โดยแรงงานก่อสร้างคือบุคคลที่ย้ายถิ่นฐานมาจากสภาวะความล้มเหลวจากงานในภาคการเกษตร ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการว่างงานในชนบท และการถูกจำกัดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ประกอบไปด้วยคนจำนวนมากที่เข้ามาสู่กระบวนการถูกทำให้เป็นสินค้า ซึ่งสินค้าในที่นี้คือแรงงานที่ตนมีอยู่ อย่างไรก็ตามการเข้าสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงในชีวิตของแรงงานก่อสร้างได้เช่นกันว่าแรงงานก่อสร้างจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีเพียงแต่สัญลักษณ์ของความสำเร็จจากการได้ครอบครองเป็นเจ้าของสินค้าและบริการที่มากขึ้นที่ทำให้คนทั่วไปตัวสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมการก่อสร้าง
การปรับตัวของคนจากชนบทที่เข้ามาประกอบอาชีพเป็นแรงงานก่อสร้างได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นแรงงานในภาคการเกษตร แต่เมื่อต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง วิถีชีวิตหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินชีวิตมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนทำให้การมีกิจกรรมร่วมกันอยู่ในวงจำกัด วัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติร่วมกันในชุมชนต้องงดเว้น หรือล้มเลิกไปโดย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาและรายได้จากการทำงาน เว้นแต่ในรายที่มาเป็นแรงงานก่อสร้างกันทั้งครอบครัวนั้นการปฏิสัมพันธ์มิได้น้อยลง เพียงแต่จะถูกจำกัดมากขึ้นจากระยะเวลาของการทำงาน ในขณะเดียวกันสินค้าสมัยใหม่ที่มีขายอยู่ทั่วไป สิ่งของเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยแรงงานก่อสร้างมักจะเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก เพราะว่ามีราคาถูกเหมาะสมกับระดับรายได้ที่ต้องแบ่งไปใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เช่นการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัด สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวก นั้นพบว่าแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะครอบครองเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน สิ่งของต่าง ๆ ที่กล่าวในข้างต้นนั้นถือว่าเป็นการประยุกต์ให้เข้ากับสภาพการดำรงชีวิตของแรงงานก่อสร้างเอง
การเข้ามาสู่การเป็นแรงงานก่อสร้างนั้นทำให้เกิดเป็นการสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ขึ้นระหว่างแรงงานก่อสร้างกับคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้คุมงาน และนายจ้าง กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้แบบแผนการบริโภคไม่ได้เกิดในบริบทเดียวกันอย่างเช่นในอดีต แต่ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ได้กลายมาเป็นตัวกลางในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ โดยมีการบริโภคสินค้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในส่วนแบบแผนการบริโภคของแรงงานก่อสร้างนั้น การบริโภคสินค้าชนิดต่าง ๆ นั้นถูกให้ความหมายและให้ประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการสร้างชุดความหมายโดยใช้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาไว้ด้วยกัน เกิดขึ้นได้จากการสร้างสิ่งของต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นสิ่งจำเป็นโดยการให้ความหมายผ่านประสบการณ์การรับรู้ของแต่ละบุคคล แรงงานก่อสร้างนั้นก็เป็นเหมือนคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมที่มีความต้องการสิ่งของเครื่องใช้และมีความสามารถในการบริโภคตามแบบแผนชีวิตสมัยใหม่ที่ทันสมัย แต่การบริโภคและการได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทางด้านรายได้ เข้าครอบงำและกดทับ กลายเป็นวาทกรรมที่ส่งผลให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับฐานะและความเป็นอยู่ดังกล่าว ขณะเดียวกันระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของแรงงานก่อสร้างเองทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมทุนนิยม ที่ตอกย้ำให้แรงงานก่อสร้างเองต้องตกอยู่ในวังวนของการบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในด้านหนึ่งจึงทำให้แรงงานก่อสร้างจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธระบบความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรักษาระบบความสัมพันธ์เดิมโดนการที่แรงงานก่อสร้างต้องปฏิเสธแบบแผนในการดำรงชีวิตบางอย่างที่ขัดกันกับความต้องการส่วนตัว แต่ในอีกด้านความต้องการที่จะมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายนั้นก็เป็นที่ต้องการอยู่ไม่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการปรับตัวให้เข้ากับแบบแผนวัฒนธรรมการบริโภคที่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันยังคงไม่ละทิ้งรูปแบบวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยมเดิม เป็นการผสมผสานกันโดยผ่านการเลือกสรรแล้ว
Type:
Degree Name:
ศิลปศาสตรบัณฑิต
Discipline:
สาขาวิชาการจัดการชุมชน
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Total Download:
23