บทบาทพระสงฆ์ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

Author:
Advisor:
Subject:
Date:
2006
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
การศึกษาเรื่อง “บทบาทพระสงฆ์ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทแรงจูงใจ ความรู้ ความคาดหวังของพระสงฆ์ต่อการทำงานวิจัยท้องถิ่น ศึกษากระบวนการและเทคนิคในการทำงานวิจัยท้องถิ่นของพระสงฆ์ ศึกษาทัศนคติของพระสงฆ์ นักวิชาการ ชาวบ้านต่อการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของพระสงฆ์ และเพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไข และข้อเสนอแนะของพระสงฆ์ต่อการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ศึกษาใช้รูปแบบการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การสัมภาษณ์เชิงลึก จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ พระสงฆ์ที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น นักวิชาการที่ร่วมทำงานวิจัยกับพระสงฆ์ และชาวบ้านในพื้นที่ที่พระสงฆ์ทำงานวิจัย แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แยกเป็นประเด็นต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ในการศึกษา และนำเสนอโดยการบรรยาย
ผลการศึกษาพบว่า
พระสงฆ์ส่วนใหญ่ทำงานวิจัยใน 2 ลักษณะ คือ 1) งานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง 2) งานวิจัยที่เป็นการทบทวนบทบาทของพระสงฆ์จากโครงการต่างๆ ที่พระสงฆ์จัดทำขึ้น
1. บทบาทพระสงฆ์ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มี 4 ด้าน ดังนี้
1.1 บทบาทด้านการเป็นพี่เลี้ยงหนุนกระบวนการงานวิจัยของชาวบ้าน เพื่อทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง โดยการเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านกระบวนการ การให้ความรู้ คำปรึกษาเกี่ยวกับงานวิจัย และกระตุ้นให้ชาวบ้านกระตือรือร้นริเริ่มทำงานวิจัย
1.2 บทบาทด้านการเป็นผู้ประสานในการทำงานวิจัยให้ชาวบ้าน พระสงฆ์จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ชาวบ้านในการติดต่อประสานงานขอความร่วมมือ และของบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
1.3 บทบาทด้านการเป็นผู้ทำงานวิจัยเอง โดยเป็นงานวิจัยที่พระสงฆ์ริเริ่มเอง ทำให้พระสงฆ์มีอิสระในการทำงานมาก บางงานวิจัยพระสงฆ์จะนำชาวบ้านมามีส่วนร่วมในงานวิจัยด้วยและชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ผู้ที่มาร่วมทำงานวิจัยจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู แกนนำชาวบ้าน เป็นต้น
1.4 บทบาทด้านการสงเคราะห์ชาวบ้าน เกิดขึ้นเนื่องจากขณะที่พระสงฆ์ลงไปศึกษาข้อมูลในชุมชนทำให้ทราบความทุกข์และปัญหาของชาวบ้าน จึงต้องการช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ ของชาวบ้าน ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน ช่วยอนุเคราะห์สงเคราะห์อาหารให้แก่ชาวบ้าน เป็นต้น
โดยพระสงฆ์ที่ทำงานวิจัยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เข้ามาทำงานท้องถิ่นเพราะต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์ ซึ่งมี “ครูบาศรีวิชัย” เป็นบุคคลต้นแบบในการทำงานเพื่อท้องถิ่น อีกทั้งยังคาดหวังว่าการทำงานวิจัยจะทำให้ได้ทิศทางการทำงานที่เหมาะสม องค์ความรู้ใหม่เพื่อนำไปสู่ความรู้ชุดอื่น และเป็นการตรวจสอบองค์ความรู้เดิม
2. กระบวนการที่พระสงฆ์ใช้ในการทำงานวิจัย มี 3 รูปแบบ ดังนี้
2.1 แบบวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการที่นักวิจัยใช้โดยทั่วไป ตั้งแต่การสังเกตสถานการณ์ ระบุปัญหา วางแผน ติดต่อประสานงาน เก็บรวบรวมข้อมูล สรุปผล / ถอดบทเรียน
2.2 แบบพระพุทธศาสนา (อริยสัจ 4) เป็นการวิเคราะห์ชุมชน โดยใช้หลักอริยสัจ 4 เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ชุมชน ได้แก่ ทุกข์ (สถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร) สมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (การดับทุกข์โดยการเล็งเป้าหมาย) มรรค (มีหนทางหรือวิธีการว่าจะดับทุกข์อย่างไรได้บ้าง)
2.3 แบบวิทยาศาสตร์ควบคู่กับแบบพระพุทธศาสนา (อริยสัจ 4) เป็นรูปแบบที่ผสมผสานทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน เมื่อวิเคราะห์จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 แบบมีกระบวนการคล้ายคลึงกัน เช่น การนำมาซึ่งทุกข์หรือปัญหา ตามแบบพระพุทธศาสนา (อริยสัจ 4) ก็คือ การสังเกตสถานการณ์ภายในชุมชนตามแบบวิทยาศาสตร์ และการวางแผน เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อสรุปหาวิธีแก้ไขตามแบบวิทยาศาสตร์ ก็คือ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามแบบพระพุทธศาสนา (อริยสัจ 4) นั่นเอง
3. เทคนิคที่พระสงฆ์ใช้ในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีดังนี้
3.1 การรู้จักนำทุนทางพระพุทธศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะพื้นฐานชาวบ้านมีความเคารพศรัทธาและนับถือพระอยู่แล้ว จึงทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน แต่เทคนิคนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของพระสงฆ์เป็นหลักด้วย หากพระสงฆ์มีท่าทีไม่เหมาะสมอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านได้
3.2 การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน เช่น การพูดคุยสอบถามชีวิตความเป็นอยู่
3.3 การปรับกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับเรื่อง และบริบทที่วิจัย เพราะพื้นที่ต่างกัน บริบทของปัญหาก็ย่อมแตกต่างกันด้วย
3.4 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี เพื่อสร้างศรัทธาและการยอมรับของประชาชน
4. พระสงฆ์ นักวิชาการ และชาวบ้านเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของพระสงฆ์ในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งคิดว่าเป็นกิจของสงฆ์ที่ควรทำ แต่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านงบประมาณ สื่อ เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้พระสงฆ์มีทักษะการวิจัยและเห็นการวิจัยเป็นโอกาสในการเข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น
5. ปัญหา อุปสรรค ในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของพระสงฆ์ ได้แก่ ขาดงบประมาณ การเดินทางไม่สะดวก ชาวบ้านไม่เข้าใจการทำงานของพระสงฆ์ ความไม่หลากหลายของเรื่องที่พระสงฆ์วิจัย เก็บข้อมูลเชิงลึกไม่ได้ เป็นต้น จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้พระสงฆ์มีข้อเสนอแนะในการทำงานวิจัยโดยต้องการให้พระนักวิจัยมีความเป็นกลาง เข้าใจจุดยืนตนเอง ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านงบประมาณ สื่อ เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น
Type:
Degree Name:
ศิลปศาสตรบัณฑิต
Discipline:
สาขาวิชาการจัดการชุมชน
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Total Download:
25