รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประวัติ และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ณ ร้านยาบ้านหมอหวาน (บำรุงชาติสาสนายาไทย) ในการจัดการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามรูปแบบพิพิธภัณฑสถาน

Other Title:
A Study of History and Wisdom of Thai Traditional Medicine at Mo Waan Apothecary Shop (Bamrung Chat Sasana Ya Thai) as a Learning Site according to the Museum Management’s Model
Author:
Subject:
Date:
2019
Abstract:
มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และยารักษาโรค ซึ่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคในประเทศไทยปรากฏขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว การพบกะโหลกของมนุษย์ ที่ถูกเจาะเป็นรูกลมบริเวณขมับด้านซ้ายสันนิษฐานว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาอาการเจ็บปวด ทั้งยังพบเมล็ดพืชนานาชนิดที่อาจใช้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรค กระทั่งเข้าสู่สมัยทวารวดี ปรากฏหลักฐานที่แสดงถึงการผลิตยาคือ แท่นหินและหินบดยา จากหลายแหล่งโบราณคดีร่วมสมัย และยังพบโรงพยาบาล หรือ อโรคยศาล ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย
พัฒนาการของการรักษาโรคมีต่อมาในอีกหลายยุคสมัย เทคนิควิธีการรักษา และยารักษาโรคมีคุณสมบัติที่สามารถรักษาโรคได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 การรักษาโดยแพทย์แผนตะวันตกแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานของแพทย์แผนไทยอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีแนวคิดสนับสนุนการแพทย์ทั้งแผนตะวันตกและแผนไทย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดประชุมแพทย์หลวงเพื่อชำระตำรายาแพทย์แผนไทย และก่อตั้งศิริราชพยาบาลขึ้น เริ่มผลิตยาตำราหลวง รวมไปถึงการออกประกาศพระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อการควบคุมการประกอบโรคศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งผลให้แพทย์แผนไทยมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ร้านยาบ้านหมอหวาน (บำรุงชาติสาสนายาไทย) ก่อตั้งขึ้นโดยนายหวาน รอดม่วง ซึ่งเริ่มอาชีพแพทย์ แผนโบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ดำเนินการทั้งการตรวจรักษาโรคและผลิตยาสมุนไพรเพื่อรักษาทั้งประชาชนทั่วไปและขุนนางในราชสำนัก โดยผลิตยาตามยาตำราหลวงและผลิตตำรับยาเป็นของตัวเอง ในปัจจุบันร้านยาบ้านหมอหวานยังคงผลิตยาในตำรับดั้งเดิม ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 4 ด้วยประวัติศาสตร์สืบทอดมายาวนานของร้านยาบ้านหมอหวาน ข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับการผลิตยาที่หลงเหลืออยู่ภายในร้าน รวมไปถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของร้าน และประวัติศาสตร์ในพื้นที่ข้างเคียงนั้น ส่งผลให้ร้านยาบ้านหมอหวาน มีคุณสมบัติของการเป็นแหล่งเรียนรู้ครบถ้วน
การวิจัยครั้งนี้ จึงนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้มาประยุกต์ และนำมาเรียบเรียงผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อสื่อสารข้อมูลของร้านบำรุงชาติสาสนายาไทย ได้แก่ 1) ที่คั่นหนังสือที่ให้ข้อมูลวัตถุชิ้นเด่น 2) แผ่นพับอธิบายความสำคัญของตัวอาคาร วัตถุสิ่งของ และตัวยาสำคัญของหมอหวาน และ 3) เอกสารความรู้ เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้เข้ามายังร้านยาบ้านหมอหวาน เพื่อประชาสัมพันธ์ และเป็นประโยชน์กับทายาทผู้ดำเนินกิจการร้านยาบ้านหมอหวานให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ต่อไป There are arguably four necessities for living: food, clothing, shelter, and medicine. The use of the latter in Thailand can be traced back to the prehistoric period, ca. 2,500-3,000 BP. This is evidenced in a hole found in the left temporal bone of a prehistoric individual, interpreted as a practice of trepanation, and the discovery of some floral remains that may have been herbal medicines. The medical practices become clearer in the historical period as demonstrated using grinding stones for medicine making in the Dvaravati period and the establishment of hospitals during the reign of the Angkorian King Jayavaraman VII.
The medicine and its technology had been developed continuously through times leading to the introduction of more advanced medical traditions. It was until the reign of King Rama IV that Thailand saw the wide adoption of the western medicine, which greatly affected Thai medical traditions. This change then led to overhaul of Thai medical system initiated by King Rama V and VI who commissioned various medicine-related projects such as an assembly of royal physicians to revise the knowledge of Thai traditional medicine, the founding of the first modern hospital “Siriraj Phayaban”, the production of household remedies under the Royal Project, and the announcement of the medical-related acts.
Mo Waan Apothecary Shop (Bumrung Chat Sasana Ya Thai) was found by Mr. Waan Rod-Muang, a Thai traditional medical practitioner, who had been active from the reigns of King Rama V to King Rama IX. He provided a service to commoners and noblemen as well as making medicine using both Royal recipes and his own creations. The practices have been continued to this day under the supervision of the 4th generation. Its long business history is collected within various medical-related equipment, the shop’s architectural design as well as the surrounding environment, making Mo Waan Apothecary Shop a true learning space.
Adopting the framework of museum as a resource in teaching and learning, this research endeavours to develop Mo Waan Apothecary Shop as a learning space and create a learning media to promote its knowledge to wider audiences. The media include bookmarks with information on highlighted objects, leaflets containing information about the development of a learning museum on the theme of the history of Thai medical tradition at Mo Waan Apothecary Shop, and booklets giving information about Mo Waan Apothecary Shop for visitors. The research hopes that the materials developed in this programme can help the promotion of this pharmacy and for the owners to use them for the future activities.
Type:
Rights Holder:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Collections:
Total Download:
283